วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ตำนานเมืองเวียงกาหลง









ตำนานเมืองเวียงกาหลง

เมืองเวียงกาหลงซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเมืองโบราณซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน คือแนวคูดินและกำแพงเมืองเก่า ซึ่งผุพังเหลือเพียงแนวที่สามารถเห็นได้
จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศ ผ.ศ ทิววา ศุภจรรยาวนาสิน โดยโครงการวิจัยชุมชนโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าในบริเวณอำเภอเวียงป่าเป้าพบว่าบริเวณอำเภอเวียงป่าเป้ามีทั้งหมด ๖ แห่ง ซึ่งเวียงกาหลงเป็นแหล่งที่สำคัญและมีหลักฐานทางโบราณคดีชัดเจนมากที่สุด
จากหลักฐานทางโบราณคดีนี้เองทำชื่อเสียงของเวียงกาหลงได้ตื่นจากการหลับใหล และรอการค้นหาปริศนา ความรุ่งเรื่องของกลุ่มชนที่สร้างเมืองโบราณแห่งนี้ หลักฐานชิ้นสำคัญคือ “ เตาเผาเวียงกาหลง” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาประวัติศาสตร์อันยาวนาน
การค้นพบเมืองโบราณเวียงกาหลง เริ่มต้นจากการค้นพบเครื่องถ้วยเวียงกาหลงและเตาเวียงกาหลง ซึ่งมีการขุดค้นพบครั้งแรกโดย พระยานครราม และได้มีการบันทึกเรื่องราวของเครื่องถ้วยเวียงกาหลงและเมืองโบราณแห่งนี้ลงในนิตยสาร ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ ๒๙ ตอนที่ ๑ ประจำเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ โดยในคำบรรยายดังกล่าวพระยานครราม เชื่อว่าเครื่องถ้วยจากป่ากาหลงนี้ เก่าแก่ยิ่งกว่าเครื่องถ้วยที่ผลิตในสวรรคโลก (ชะเลียง ) และสุโขทัย และความสนใจในเรื่องเมืองเวียงกาหลงนี้ก็มีมากขึ้น ภายหลังการศึกษาเชื่อว่าเมืองเวียงกาหลงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ ( พ.ศ.๕๐๐-๕๙๙ ) และในส่วนของบันทึกพงศาวดารเชื่อว่า เมืองเวียงกาหลงนั้น น่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวดับเมืองเชียงลาว ทั้งสองเมืองนี้อยู่ในจังหวัดเชียงราย
จากหลักฐานจารึกที่อนุสาวรีย์ พ่อเมืองเวียงป่าเป้า พบว่าเวียงกาหลงสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๕โดยอ้างพงศาวดารชาติเล่มที่ ๓ ของพระบริพารเทพธานี จากการศึกษาของผู้เขียน พงศาวดารดังกล่าวระบุว่าเมืองเวียงกาหลงอยู่ในยุคเดียวกับเมืองเชียงลาว แต่ไม่ได้ระบุถึงผู้ก่อตั้งเมืองโบราณนี้ ความขัดแย้งของหลักฐานเริ่มมีมากขึ้น เมื่อมีการศึกษาถึงประวัติเมืองเชียงลาว เมืองเชียงลาวนี้ปกครองโดยกษัตริย์ในราชวงศ์ลาวจักราช การเริ่มต้นของราชวงศ์ลาวจักราชนี้ในตำนานเมืองเชียงใหม่ระบุว่า ราว พ.ศ. ๑๑๘๒ หรือในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ความขัดแย้งเริ่มมีมากขึ้นเมื่อนายเรจินาลค์ เลอเมย์ ได้คัดค้านของพระยานครราม ว่า เตาเวียงกาหลงน่าจะมีอายุไม่เกิน ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งหมายถึงว่าเมืองโบราณเวียงกาหลง มีอายุไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับการกำเนิดเมืองเวียงกาหลง ๒ ทฤษฎีแรกถูกคัดค้านมากขึ้น เมื่อมีการตรวจสอบทางโบราณคดีพบว่าเมืองเวียงกาหลงและเตาเผาเครื่องเคลือบมีอายุประมาณพุทธสตวรรษที่ ๒๐-๒๒ โดยการยืนยันของกรมศิลปกร
แต่ข้อยุติเรื่องเมืองโบราณเวียงกาหลงยังไม่ยุติลงเพราะ ผู้ที่มีความเชื่อว่าเวียงกาหลงสร้างขึ้นในยุคก่อนสร้างล้านนาประเทศ ( พุทธศตวรรษที่ ๕ ) หรือผู้ที่เชื่อว่าเวียงกาหลงเกิดในยุคเดียวกับเมืองเชียงลาว ยังมีข้อสันนิษฐานว่า เครื่องปั้นดินเผาของเวียงกาหลง อาจเกิดในยุคหลัง เพราะตามธรรมดา เมืองโบราณต้องใช้เวลาสั่งสมอารยะธรรมอย่างน้อยเป็นชั่วอายุคน
จากข้อสันนิษฐานต่างๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเวียงกาหลงเกิดขึ้นในยุคใด และสาเหตุของความมืดมนในการค้นหาคำตอบ คือเวียงกาลหลงไม่ได้อยู่ในเส้นทางการเดินทัพของพม่าจึงไม่มีการบันทึกเรื่องราวไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ที่น่าสนใจก็คือเวียงกาหลงได้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมตลอดจนการติดต่อกับเมืองต่างๆ ในอดีต จนเห็นเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงมีลักษณะการเขียนลายที่เหมือนกับเครื่องถ้วยชิงไป๋ ของจีน ส่วนของชาติไทยด้วยกัน เมืองเวียงกาหลงก็ติดต่อกับเมืองแบใกล้เคียงเช่น ชะเลียง สวรรคโลก แต่กลับไม่มีการจดบันทึกกับเมืองเหล่านี้ไว้อาจเป็นไปได้ว่าเมืองเวียงกาหลงมีชื่อเรียกอีกอย่าหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าศึกษาต่อไป
การเสื่อมสลายของเมืองเวียงกาหลงจากหลักฐานที่มีการค้นพบเมืองเวียงกาหลง มีเตาเผา กว่า ๒๐๐ เมืองนี้จึงเป็นเมืองที่ใหญ่โต ตลอดจนเวียงกาหลงอยู่ท่ามกลางเมืองต่างๆ ของ อาณาจักรล้านนา และมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านขึ้นไปทางทิศเหนือ สภาพภูมิประเทศเชื่อว่าบริเวณนี้ เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบกับตัวเมืองเวียงกาหลงได้สร้างปราการกั้นเป็นเนินดินสูง และมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำ เป็นที่ตั้งของชุมชนที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และปลอดภัยจากการเดินทัพ สันนิษฐานว่าเมืองโบราณเวียงกาหลง เกิดน้ำท่วมใหญ่ บ้านเมืองจมอยู่ใต้น้ำ ผู้คนอพยพย้ายถิ่น หลักฐานที่ปรากฏได้แก่ แหล่งเตาเผาจำนวนมากที่จมอยู่ใต้ดิน



คูเมืองโบราณ พระยอดขุนพลเวียงกาหลง







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น