วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เอกลักษณ์แห่งลายเวียงกาหลง


เอกลักษณ์แห่งลายเวียงกาหลง

เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงมีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงามของรูปแบบ ลวดลาย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดินมีคุณภาพดี เนื้อดินมีความละเอียด สีขาวนวล น้ำเคลือบใสบาง และขึ้นรูปทำได้บาง มีการผลิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 กล่าวกันว่า เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง เป็นเครื่องหั้นที่มีราคาแพงอย่างมาก เมื่อเทียบกับเครื่องปั้นจากแหล่งอื่น จากการสัมภาษณ์ผู้มีความรู้ ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบาย รูปแบบและลวดลายที่พบจากเตาเผาโบราณ ในระยะแรกมักจะวาดลวดลายแบบจีน เช่น ลายพันธุ์ไม้แบบจีน หรือเวียดนาม ลายเก๋งจีน ลายกิเลน ลายไก่ฟ้า ลายเส้นเหมือนกับเครื่องถ้วยจีน รูปทรงของภาชนะ จาน ชาม ถ้วย ไห บางส่วนก็มีลักษณะเป็นแบบจีน ระยะต่อมาก็มีรูปลักษณ์ต่างไปจากเครื่องถ้วยจีน มักพบรูปทรงและลวดลายที่ทำขึ้นมาโดยไม่ได้ตามอย่างศิลปะจีน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเวียงกาหลงเอง มีทำกันทั้งการเขียนลายดำใต้เคลือบ และเคลือบใส ในช่วงแรกๆนั้นทำภาชนะได้บาง และมีน้ำหนักเบา ช่วงหลังทำหนา และหนักขึ้น ตาดว่าคงจะมีการใช้กรรมวิธีเคลือบน้ำตาล เคลือบเขียว ซึ่งยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก ใช้น้ำเคลือบหนาแต่ยังไม่ค่อยมีความสม่ำเสมอลวดลายที่ใช้เขียนลายใต้เคลือบนั้นส่วนมากก็เป็นลวดลายที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ประเภทพันธุ์ไม้ ดอกไม้ ภาพสัตว์ ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า “อาจเป็นเพราะอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดลายพวกนี้ขึ้น” ลายที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ คือ การดัดแปลงรูปกลีบดอกไม้หรือใบไม้ ให้เหมือนรูปนกกา ที่เรียกกันว่า “ลายกา” หรือดอกกาหลง ถ้าเป็นงานแบบเคลือบใสจะแต่งด้วยการขูดขีดหรือลายซี่หวี ลวดลายที่พบจากเศษชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผานั้น พบซ้ำๆ กันมาก แต่ก็ถือว่ามีลายจำนวนมากที่ช่างฝีมือสมัยก่อนได้ประดิษฐ์ไว้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการพบแหล่งเตาเผาโบราณอยู่เรื่อยๆ ตามท้องที่ไร่นา เขตชุมชน หรือพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เมื่อพบใหม่ก็จะเป็นมีลายแปลกๆ ปะปนอยู่ด้วยเสมอ แสดงให้เห็นว่ายังมีลวดลายที่ใช้การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนรูปแบบเท่าที่พบก็มีรูปทรงต่างๆ ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ภาชนะเครื่องเคลือบสิ่งของเครื่องใช้สอย ของใช้ในพิธีกรรม ยังพบพระพุทธรูปดินเผาเคลือบ แ ละพระพิมพ์ดินเผาต่างๆ รวมทั้งตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ ขนาดเล็ก แต่ก็พบจำนวนไม่มากนัก

รูปแบบและลวดลายเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ลวดลายพันธุ์พฤกษา ได้แก่ ลายผักแว่น ลายก้านขด ลายดอกบัว ลายผักกูด ลายดอกเข็ม ลายหวีกล้วย ลายเมล็ดข้าว ลายใบมะพร้าว ลายดอกกาหลง ลายดอกโบตั๋น ลายสระบัว ลายใบเฟิร์น และลายอื่นๆ ได้แก่ ลายจุดหมึก (ลายหมัดไฟ) ลายขูดขีด (ลายซี่หวี) ลายแสงตะวัน เป็นต้น
2. ลวดลายรูปสัตว์ ได้แก่ ลายกิเลน ลายกวาง ลายสัตว์ 12 ราศี ลายนกกา ลายนกไก่ฟ้า ลายม้า ลายปลา เป็นต้น
3. รูปแบบภาชนะ ได้แก่ จาน ชาม ถ้วย แจกัน ไห โถพร้อมฝา กระปุกมีฝา คนที คนโท ขวด ผางประทีป เชิงเทียน เป็นต้น
4. รูปแบบประติมากรรม และตุ๊กตา ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ ตุ๊กตารูปคน ตุ๊กตารูปสัตว์ ตัวหมากรุก เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น